Sunday, December 28, 2008
Credit Default Swap (CDS)
ซีดีเอส เป็น "ผลิตภัณฑ์" ทางการเงินใหม่ที่เป็นนวัตกรรมของระบบธนาคารแบบ วาณิชธนกิจในสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะ ซีดีเอส จะเป็นการตกลงกันระหว่าง 2 ฝ่าย เพื่อให้ฝ่ายหนึ่งรับประกันการเบี้ยวหนี้จากการปล่อยกู้สินเชื่อด้อยคุณภาพ ของอีกฝ่ายหนึ่ง แลกเปลี่ยนกับผลตอบแทนจากฝ่ายแรก ตัวอย่างเช่น สถาบันการเงิน ก. ปล่อยกู้สินเชื่อด้อยคุณภาพให้กับลูกค้า 10 ราย รายละ 1 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ย 10 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่อยากแบกรับความเสี่ยงเอง ก็ไปหาธนาคาร ข. เสนอผลตอบแทนให้กับธนาคาร 4 เปอร์เซ็นต์ แลกกับการที่ธนาคารยอมค้ำประกันหนี้ก้อนดังกล่าว โดยวางเงินไว้ตามกฎ 10 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าของหนี้สินทั้งหมด ทั้งนี้ ธนาคาร ข. จะออกตราสารหนี้ไว้ให้กับ สถาบัน ก. เพื่อการค้ำประกันดังกล่าว
ด้วย วิธีการนี้ ธนาคาร ข. สามารถทำเงินได้ 4 เปอร์เซ็นต์จากมูลค่าหนี้ทั้งหมด ในขณะที่สถาบันการเงิน ก. ก็มีหลักประกันว่าจะได้รับเงินคืนแน่ ถ้าหากมีการเบี้ยวหนี้เกิดขึ้น ที่สำคัญก็คือ สถาบันการเงิน ก. ยังสามารถนำตราสารหนี้ดังกล่าว ไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ เพื่อนำเงินก้อนดังกล่าวมาปล่อยกู้ซับไพรม์รอบใหม่ได้อีก หาธนาคารค้ำประกันใหม่ได้อีก ในขณะเดียวกัน ธนาคาร ข. เองก็อาจนำเอาหนี้ก้อนเดียวกันนั้นไป "ขาย" ต่อให้กับธนาคารอื่น โดยแบ่งผลประโยชน์ให้อีกส่วนหนึ่ง
ในทางหนึ่ง นี่เป็นวิธีการกระจายความเสี่ยงจากการปล่อยกู้ แทนที่จะกระจุกตัวอยู่ที่เดียว ให้กระจายออกไปรับผิดชอบร่วมกัน แต่ในอีกทางหนึ่ง นี่เป็นการสร้างความร่ำรวยจากอากาศธาตุ และเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับหนี้สินอย่างสำคัญ ด้วยการทำให้หนี้ที่มีความเสี่ยงสูง เป็นหนี้ระดับเกรดบี กลายเป็นหนี้ที่มีการค้ำประกัน เป็นหนี้เกรดเอ ที่น่าจะเป็นหนี้ที่ปลอดภัยที่สุด น่าลงทุนที่สุด
วิธีการนี้เป็น วิธีการที่ เลห์แมน บราเธอร์ส ใช้ในการทำธุรกรรมมากที่สุดจนกลายเป็นวาณิชธนกิจที่ทำ ซีดีเอส ติดอันดับท็อปเท็นของโลก มูลค่าของสัญญาที่เลห์แมนฯ ค้ำประกันอยู่มีอยู่สูงถึงเกือบ 800,000 ล้านดอลลาร์!
ด้วยความสลับ ซับซ้อนของระบบ และการเทรดต่อกันเป็นทอดๆ ดังกล่าว สถาบันการเงิน และธนาคารหลายแห่งในยุโรป หรือกระทั่งในเอเชีย ต้องเรียกพนักงานมาทำงานในวันหยุดเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ระดมกำลังสมองกันประเมินมูลค่าของหนี้สินที่เกี่ยวเนื่องกับ เลห์แมนฯ ว่าถึงที่สุดแล้ว ตนจะเสียหายเท่าใดไปกับการล้มละลายของวาณิชธนกิจรายนี้
From: มติชนสุดสัปดาห์ วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 28 ฉบับที่ 1466 หน้า 102
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment